ไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
จากสภาวะอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน ส่งผลให้เราพบเจอการระบาดของไข้หวัดใหญ่กันบ่อยขึ้น ซึ่งหลาย ๆ คนยังคงเข้าใจผิดว่าโรคไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าฝนเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วไข้หวัดใหญ่มีการแพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปี และทุกกลุ่มอายุ โดยไม่จำกัดแค่ในเด็กเล็ก หรือคนที่มีสุขภาพอ่อนแอเท่านั้น แม้แต่ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงก็สามารถติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และเป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อให้แก่ผู้คนรอบข้างได้ ซึ่งวิธีการป้องกันจากการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่คืออะไร ?
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) ในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้มีไข้ ไอ น้ำมูก คัดจมูก จาม อาจมีอาการปวดเมื่อตามตัว อ่อนเพลียคล้ายกับไข้หวัด แต่อาการจะรุนแรงกว่า นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดลมและปอดอักเสบ นอกจากนั้นยังทำให้โรคประจำตัวมีอาการกำเริบจากการติดเชื้อ เช่น โรคหัวใจ, เบาหวาน, โรคเกี่ยวกับตับและไต
เพราะทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การแนะนำวิธี ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่คืออะไร ?
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนชนิดฉีด ผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว โดยผ่านกระบวนการผลิตที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธภาพสูงในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ฉีดวัคซีนแล้วยังอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ได้แต่อาการจะน้อยลง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ป้องกันไข้หวัดทั่วไปที่เกิดจากเชื้ออื่น ๆ
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
นับตั้งแต่มีการแยกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1993 ก็มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุดในปี ค.ศ. 2012 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้แนะนำให้เพิ่มไวรัสสายพันธุ์ B เข้าในวัคซีนอีกหนึ่งสายพันธุ์ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นคือ Quadrivalent Influenza Vaccine ซึ่งครอบคลุมไวรัส 4 สายพันธุ์ดังต่อไปนี้
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/ H3N2
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ครอบคลุมมากขึ้นจากเดิม
กลุ่มบุคคลที่ “ควร” ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง ไตวาย หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด
- หญิงมีครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือน ขึ้นไป
- บุคคลที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป
- เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อ HIV
โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพอยู่แล้วยิ่งสมควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุก ๆ ปี
กลุ่มบุคคลที่ “ไม่ควร” ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน
- คนที่มีประวัติแพ้ไก่หรือไข่ไก่อย่างรุนแรง เพราะวัคซีนชนิดนี้ผลิตจากไข่ไก่
- ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
- ผู้ที่มีไข้ หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำกำเริบ ควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน
อาการข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ อาจจะมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ปวดเมื่อย มักจะเริ่มไม่นานหลังฉีด อาการดังกล่าว ควรหายภายใน 1-2 วันการแพ้ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตมีน้อยมาก ถ้าหากเกิดขึ้นจะปรากฎภายใน 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมงหลังฉีด โดยอาจมีอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดัง ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ
การเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการรุนแรง และส่งผลต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ การป้องกันที่ดีที่สุด ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และฉีดสม่ำเสมอทุกปี
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์มีประโยชน์อย่างไร ?
นอกเหนือจากการปกป้องร่างกายจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้ง 4 สายพันธุ์ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังมีประโยชน์เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
- สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B ครอบคลุมสายพันธุ์มากขึ้นกว่าเดิม
- ลดอัตราการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่
- ลดปัญหาจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้ป่วยเรื้อรัง
- ลดการใช้ยาปฎิชีวนะ จากภาวะแทรกซ้อนในการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา
- ลดการขาดงานหรือขาดเรียน
- ลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
- ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่
ที่มา : เอกสารแนะนำความรู้เกี่ยวกับวัคซีนสำหรับประชาชน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข