
ศูนย์ไตเทียม
ไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease/CKD)
เป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขโรคหนึ่ง ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรคไตเรื้อรัง แบ่งเป็น 5 ระยะตามระดับอัตราการกรองของไต หรือ อัตราการทำงานของไต (Estimated Glomerular filtration rate/eGFR))
- ระยะที่ 1ไตมีพยาธิสภาพโดยที่ยังมีค่า eGFR มากกว่าหรือเท่ากับ 90 ซีซี/ลูกบาศก์เซนติ เมตร (CC/Cubic centrimetre) ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร
- ระยะที่ 2, 3, 4 เป็นระยะที่ไตมีพยาธิสภาพ โดยมีค่า eGFR น้อยกว่า 90, 60, 30 ซีซี ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73ตารางเมตร ตามลำดับ
- ระยะที่ 5 หรือโรคไตระยะสุดท้าย (End stage kidney disease) มีค่า eGFR น้อยกว่า 15 ซีซีต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร เป็นระยะที่จำเป็นต้องรักษาโดยการทดแทนไต (Renal replacement therapy หรือ Chronic renal replacement thera py/CRRT) ด้วยการล้างไต (Kidney dialysis หรือ Renal dialysis) หรือ การเปลี่ยนไต(การผ่า ตัดปลูกถ่ายไต/Kidney transplantation)
โดยโรคไตเรื้อรังระยะแรกๆ ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการ ต่อมาเมื่อผู้ป่วยมีการเสื่อมของไตมากขึ้นโดยเฉพาะโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 หรือระยะที่ 5 จะมีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ได้แก่ โลหิตจาง/ซีด ภาวะความดันโลหิตสูง มีความผิดปกติของสมดุลน้ำและเกลือแร่ มีการคั่งของของเสีย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวม มีภาวะน้ำท่วมปอด ปัสสาวะออกน้อยลง มีอาการอ่อนเพลีย หอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากอาหาร ในบางรายอาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น อาการซึม หรืออาการชัก รวมทั้งผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงขึ้น
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อนจะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งพบว่า เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
การฟอกเลือด
การฟอกเลือดเป็นการนำเอาของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากเลือดของผู้ป่วย การฟอกเลือดมี 2 ประเภท คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) และการฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร (continuous ambulatory peritoneal dialysis: CAPD)
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis)
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) เป็นการนำของเสียและน้ำออกจากเลือด โดยเลือดจะออกจากตัวผู้ป่วยทางเส้นเลือดดำ แล้วผ่านตัวกรองซึ่งในตัวกรองจะมีเนื้อเยื่อที่จะช่วยกรองของเสียและน้ำออกจากเลือด เมื่อเลือดผ่านตัวกรองแล้วจะกลายเป็นเลือดดี เครื่องจะนำเลือดนั้นกลับสู่ร่างกาย ในการฟอกเลือดแต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. หรือมากกว่า และต้องทำการฟอกเลือดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
ก่อนการฟอกเลือดต้องมีการทำการตัดต่อเส้นเลือดเพื่อใช้ในการฟอกเลือด ซึ่งมี 3 วิธีคือ
การนำเส้นเลือดดำต่อกับเส้นเลือดแดงบริเวณแขนหรือเรียกว่าการทำ AV fistula เพื่อให้เส้นเลือดดำใหญ่ขึ้น และมีแรงดันพอที่จะทำให้เลือดไหลเข้าสู่เครื่องไตเทียมได้
การต่อเส้นเลือดดำกับเส้นเลือดแดงของผู้ป่วยโดยการใช้เส้นเลือดเทียมหรือ AV graft
การใส่สายเข้าไปในเส้นเลือดดำขนาดใหญ่เพื่อไว้สำหรับต่อกับเครื่องไตเทียม วิธีการนี้เป็นการทำแบบชั่วคราว
การฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร (Continuous ambulatory peritoneal dialysis: CAPD)
การฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร คือ การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาเพื่อกรองของเสียในร่างกายออกโดยการใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องผ่านทางท่อ ซึ่งท่อนี้ต้องทำการฝังเข้าไปในช่องท้อง วิธีนี้สามารถทำที่บ้านหรือที่ทำงานได้และต้องทำทุกวัน มีการเปลี่ยนน้ำยา 4–5 ครั้ง/วัน ผู้ป่วยสามารถเลือกเวลาทำเองได้ โดยผู้ป่วยหรือผู้ช่วยเหลือต้องเรียนรู้วิธีการทำด้วย
โรงพยาบาลพริ้นซ์ลำพูน เปิดให้บริการฟอกไตมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ปัจจุบันได้มีการเพิ่มขยายเตียงสำหรับฟอกไตจากเดิม 6 เตียง เป็น 20 เตียง เปิดให้บริการสำหรับประชาชนทุกสิทธิ์การรักษา เวลาการให้บริการคือ วันจันทร์ – เสาร์
รอบที่ 1: เวลา 06.00 -11.00น.
รอบที่ 2: เวลา 11.00 -16.00น.
รอบที่ 3: เวลา 16.00 -21.00น.